ความเป็นมา

จากข้อมูลอุตสาหกรรมของไทย พบว่า ผู้ประกอบการมีแผนจะลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงปี 2558-2560 จำนวนคิดเป็นร้อยละ 29.9 ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 35.47 ที่มีการวางแผนลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve มีประมาณ 25,000 ราย ในจำนวนนี้มีประมาณ 1,000 ราย ที่ธุรกิจจัดว่าแข็งแรง ประมาณ 7,500 ราย อยู่ในสถานะที่ลำบาก และผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 70 มีเครื่องจักรที่ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์น้อยมาก ถึงไม่มีเลย จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมไทยถึงจุดเปลี่ยนต้องก้าวทันยุค 4.0 ระบบที่เชื่อมต่อจะทำให้สามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความพึงพอใจให้กับลูกค้า ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้นโดยมีปัจจัยสำคัญ คือ เทคโนโลยี ระบบงาน และโดยเฉพาะคนหรือบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีความพร้อมในการปรับเปลี่ยน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของภาคเอกชน โดยมีหน่วยงานรัฐและภาคการศึกษาที่เกี่ยวข้องร่วมกันส่งเสริม ผลักดัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย
 
กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จึงได้ดำเนินการ โครงการปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม 4.0 (Smart Industry Transformation and Competency to 4.0) ในกิจกรรมการสร้างแนวทางการเรียนรู้อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยหลักสูตรความเป็นเลิศด้านลีนและอุตสาหกรรม 4.0 (Digital Lean for Industry 4.0) การพัฒนาและขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Lean เพื่อถ่ายทอดความรู้ ทักษะ แนวทางในการจัดการกระบวนการด้วยลีนให้สอดรับกับเทคโนโลยี 4.0 อันเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมไทยในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคอุตสาหกรรม 4.0